15 กันยายน 2557

"เมื่อความสุขหลุดลอยไป" โดย พระไพศาล วิสาโล


             วันนี้ขอนำเสนอ ธรรมะสอนใจดี ๆ เรื่อง "เมื่อความสุขหลุดลอยไป" ของ พระไพศาล วิสาโล  เจ้าอาวาสแห่งวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งท่านได้แนะทางแห่งปัญญา ความสว่าง แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้อย่างถ่องแท้ ถึงแก่นธรรม ดังที่เราและท่านทั้งหลายจะ ได้พบทางสว่าง และพบกับความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง เมื่อเราสามารถ ปล่อยวางความอยาก ตั้งใจหมั่นทำความดี ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง ดังคำเทศนาของท่านดังต่อไปนี้

"ความสุขนั้นใคร ๆ ก็ปรารถนา  แต่เคยสังเกตไหมว่า ทันทีที่เราอยากได้ความสุข  ความสุขกลับเลือนหาย  ยิ่งอยากได้ความสุขมากเท่าไร  เรากลับมีความสุขน้อยลง  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?



            เหตุผลนั้นมีหลายประการ ทุกครั้งที่เราอยากมีความสุข  เรามักจะนึกถึงสิ่งที่เรายังไม่มี เช่น เงิน  รถยนต์  ชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือสิ่งที่ยังไปไม่ถึง เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว  แต่พอคิดเช่นนั้น เราก็จะรู้สึกไม่พอใจกับสภาพปัจจุบันทันที  เพราะตรงนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีสิ่งที่เราอยากได้ อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่เราอยากไปถึง

            ทั้ง ๆ ที่สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันอาจให้ความสุขแก่เราอยู่แล้ว เช่น บ้านที่สะดวกสบาย ร่างกายที่ไม่ป่วยไข้ พ่อแม่และคนรักที่รู้ใจ แต่ความสุขเหล่านี้กลับถูกเรามองข้ามเพียงเพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้หรือไม่ใช่สิ่งที่เราอยากไปถึง  ใช่แต่เท่านั้นเมื่ออยากได้สิ่งที่ยังไม่มี เราก็ต้องดิ้นรนหามันมาให้ได้  ระหว่างที่ดิ้นรนนั้นก็รู้สึกเป็นทุกข์ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้มันมา  ยิ่งมีคู่แข่งมากมายด้วยแล้ว จะมีความสุขได้อย่างไร

             กล่าวอีกนัยหนึ่ง  ทันทีที่เราอยากได้ความสุข เราจะไม่เห็นความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบัน  เพราะใจนั้นมัวจดจ่อใส่ใจกับความสุขที่อยู่ข้างหน้า แค่นั้นก็ทำให้ความสุขเลือนหายไปจากใจแล้ว   คนส่วนใหญ่ที่อยากมีความสุขนั้นที่จริงเขามีความสุขอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น เพราะเอาแต่มองออกไปนอกตัว  เขามองข้ามปัจจุบัน ฝากความหวังไว้กับอนาคต จึงเสียโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบัน

             เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ความอยากทำให้เราขวนขวาย  และยิ่งขวนขวายไขว่คว้าความสุขมากเท่าไร มาตรฐานความสุขที่เราตั้งเอาไว้ก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น  คนที่เข้าคิวรอกินอาหาร  ยิ่งคิวยาวเท่าไร ความคาดหวังในรสชาติของอาหารก็สูงมากเท่านั้น  ครั้นได้กินแล้ว แม้รสชาติจะอร่อย แต่หากไม่ถึงขีดที่ตั้งความหวังเอาไว้ ก็ย่อมไม่พอใจ    อาหารราคา ๕๐ บาทซื้อจากร้านข้างถนน กินแล้วรู้สึกว่าอร่อย  ครั้นไปโรงแรมระดับห้าดาว สั่งอาหารอย่างเดียวกัน   แม้รสชาติจะเหมือนกับร้านข้างถนนที่เคยกิน  แต่คราวนี้กลับรู้สึกว่าไม่อร่อยแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะคาดหวังว่ามันต้องอร่อยกว่านั้นเนื่องจากอุตส่าห์ยอมจ่ายถึง ๓๐๐ บาท

             คนที่อยากได้ความสุขมาก ๆ  ยังมักเจอปัญหาอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ยิ่งอยากได้ความสุข ก็ยิ่งนึกถึงแต่ตัวเอง คิดแต่ว่าทำไมตนถึงจะมีความสุขมาก ๆ  ความคิดเช่นนี้ทำให้ไม่สนใจคนอื่น จนอาจถึงขั้นไร้น้ำใจต่อคนรอบตัว  เท่านั้นไม่พอ ยังอาจเรียกร้องความสุขจากคนอื่น ๆ อีกด้วย  จึงเป็นที่ระอาของผู้คน  ใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ความรู้สึกโดดเดี่ยว  ไอริส มอสส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ พบว่า ยิ่งผู้คนให้ความสำคัญแก่ความสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างโดยเฉพาะเวลามีเรื่องเครียดเกิดขึ้น 

             ที่ตามมาควบคู่กันก็คือ ความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขมากกว่า   การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า มีผู้คนถึง ๑ ใน ๓ มีความสุขน้อยลงหรือมีความทุกข์มากขึ้นเมื่อใช้เฟซบุ๊ค  เนื่องจากเห็นเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักมีความสุขเพราะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารตามห้างดัง หรือร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ฯลฯ ในขณะที่ตนเองต้องอยู่กับบ้าน ทำงาน หรือเตรียมสอบ อันที่จริงการอยู่บ้านหรือที่ทำงานไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เลย แต่พอเห็นคนอื่นมีความสุข ก็พลอยทำให้ตนเองเป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะไม่ได้สุขเหมือนเขา

              ศานติเทวะ  ปราชญ์มหายานชาวอินเดีย เคยกล่าวว่า “ความทุกข์ใดในโลกหล้า ล้วนมาจากความปรารถนาให้ตนเองเป็นสุข” สอดคล้องกับโซโฟเคิลส์ นักคิดชาวกรีก ซึ่งกล่าวว่า “ยิ่งพยายามมีความสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงเท่านั้น”  นี้ก็ทำนองเดียวกับคนที่อยากได้ความสงบ ก็ยิ่งมีความสงบน้อยลง   เพราะเมื่ออยากได้ความสงบ ก็ยิ่งไม่ชอบเสียงรบกวน  และยิ่งไม่ชอบเสียงรบกวน ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพราะเสียงนั้นมากขึ้น  แค่เสียงรบกวนนิดหน่อยก็สามารถทำให้เขาหงุดหงิดรำคาญขึ้นมาได้ ตรงข้ามกับคนที่ไม่หมายมั่นความสงบ  แม้มีเสียงรบกวน เขาก็ไม่รำคาญ จิตใจยังคงเป็นปกติ  จึงพบความสงบใจได้ไม่ยาก

               คนที่อยากได้ความรัก มักลงเอยด้วยการไม่ได้ความรัก  เพราะเมื่ออยากได้ความรักจากใคร ก็มักคาดคั้นหรือเรียกร้องความรักจากเขา ได้แล้วก็ยังไม่พอใจเพราะไม่มากเท่าที่ต้องการ ก็ยิ่งเรียกร้องอีก ทำให้อีกฝ่ายอึดอัดและระอาใจ ใช่แต่เท่านั้น  เวลาเห็นเขาให้ความสนใจหรือความรักแก่คนอื่น ตนเองก็จะรู้สึกอิจฉาและโกรธขึ้ง อาจถึงกับอาละวาดอีกฝ่ายด้วยความหึงหวง  เมื่อเป็นเช่นนี้หนักเข้า อีกฝ่ายก็ย่อมรู้สึกเหนื่อยหน่ายและหมางเมินเหินห่างในที่สุด

               ตรงข้ามกับคนที่ไม่ได้ต้องการความรักจากใคร กลับมักได้รับความรักจากผู้อื่น  เพราะเขาไม่คิดเรียกร้องความรักจากใคร ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ใส่ใจคนอื่น คอยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น  จึงมักเป็นที่รักของผู้อื่น

               อยากได้อะไร กลับไม่ได้สิ่งนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น  ยิ่งอยากได้ความสุข กลับไม่ได้  ครั้นไม่อยากได้ความสุข กลับได้  ดังนั้นใครที่อยากมีความสุข  ควรวางความอยากลงเสีย แล้วหมั่นทำความดี  นึกถึงผู้อื่นให้มาก ๆ  ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง เมื่อนั้นความสุขก็จะมานั่งในหัวใจเราเอง"


“ความสุขใดในโลกหล้า ล้วนมาจากความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข”  เป็นวาทะอีกตอนหนึ่งของศานติเทวะที่เตือนใจเราได้เป็นอย่างดี

               จริงแท้ที่ความดีนั้นทำได้ยากยิ่ง และการจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนั้น ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงเราเข้าใจถึงธรรมะ หรือ ธรรมชาติ ของสรรพสิ่ง ที่ล้วนแต่มีทั้งดีและไม่ดี และแน่นอนที่ไม่มีใครดีทุกอย่าง ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครที่เลวไปซะทุกอย่าง แค่เราปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดี และสร้างสมความดี ชีวิตนี้ก็สุขได้ไม่ยากเลย


Related link :


เมื่อความสุขหลุดลอยไป 
ขอขอบคุณรูปภาพสวย ๆ จาก :
ธรรมะกับชีวิต ข้อคิดดีๆจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

แนะนำงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

ติดต่อ : คุณเปรมวิกา โทร. 099-165-6804, 099-165-6805, 088-873-9627

จดรหัส H-195850 มาด้วยเพื่อรับงาน