สวัสดีปีใหม่ 2558 นะคะ
ขอให้ทุกคนมีความสุขทะลักล้น ร่ำรวยเงินทองมหาศาล ไร้โรคภัยและเคราะห์ร้ายใด ๆ ค่ะ
ขึ้นศักราชใหม่นี้ก็จะขอนำเสนอ ประวัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และบทคาถาหรือบทบูชาสำหรับกราบไหว้ "พระพุทธโสธร" หรือที่เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะเรียกคุ้นกับนามท่านว่า "หลวงพ่อโสธร" มาฝากกันค่ะ ไม่ทราบว่าปีใหม่นี้ไปไหว้พระกันมารึปล่าวคะ ถ้ายังไม่ได้ไปก็ไม่เป็นไรค่ะ ไปได้ตลอดเวลาเท่าที่แต่ละคนจะสะดวกกันค่ะ คนก็ไม่เยอะด้วย ถ้าใครพอมีเวลาและไม่มีโปรแกรมเที่ยวที่ไหน ก็ชวนไปไหว้ "หลวงพ่อโสธร" กันค่ะ
คาถาบูชากราบไหว้ "หลวงพ่อโสธร"
"นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" (3 จบ)
"นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร
ยะ ทรงอากาศ พุทธังแคล้วคลาด ธัมมัง แคล้วคลาด
สังฆัง แคล้วคลาด ศัตรูภัยพาล วินาศสันติ
นะกาโร กุกกุสันโธ สิโรมัชเฌ โมกาโร โกนาคะมะโน
นานาจิตเต พุทธกาโร กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต
ธากาโร ศรีศากะยะมุนี โคตะโม ยะกันเน ยะกาโร อะริยะ
เมตตรัยโย ชิวหาทีเต ปัจจะพุทธา นะมามิหัง"
*** สวดมนต์คาถานี้ทุกวันจะปลอดภัย ป้องกันอันตรายทั้งปวง
ร่มเย็นเป็นสุขตลอดชีวิต อีกทั้งมีเมตตา มหานิยม ซื้อง่ายขายคล่อง นำมาซึ่งโภคทรัพย์ ***
ส่วนใหญ่แล้วผู้คนที่นิยมไปกราบไหว้หลวงพ่อโสธรกันก็ จะมีไปไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลบ้าง บนบานสานกล่าวบ้าง เรื่องฮิต ๆ นั่นก็คือจะขอเรื่องการงาน หรือทำการค้าขายเจริญรุ่งเรือง แต่สิ่งที่ห้ามบนบานเด็ดขาดก็คือการไปขอเพื่อไม่ให้ได้เกณฑ์ทหารและขอบุตรค่ะ
มีเรื่องเล่าจาก ปู่ย่า ตายาย สืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อโสธรท่านชอบให้คนเป็นทหารเพื่อจะได้ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง และคนที่เป็นทหารก็เป็นเสมือนลูกหลานของท่าน ดังนั้นใครที่มาขอไม่ให้โดนเกณฑ์ทหาร ก็มักจะต้องโดนเกณฑ์ไปเป็นทหารทุกราย และคนที่มาขอบุตร ก็มักจะได้บุตรที่มีอาการไม่ครบ 32 เนื่องจากว่าท่านได้ส่งลูกหลานซึ่งเป็นทหารที่บาดเจ็บล้มตายมาให้นั่นเอง
เรื่องนี้เท็จจริงประการใดคงต้องพิจารณากันเอาเองนะคะ
ส่วนใครต้องการจะบนบาน ขอแนะนำรายการและคำกล่าวดังนี้ค่ะ (ทำที่บ้านได้ค่ะ)
- ธูป 16 ดอก
- พวงมาลัย
"พระพุทธโสธร" หรือ "หลวงพ่อโสธร" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์
หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ ปางขัดสมาธิเพชร ได้มีการเสริมแต่งขึ้นจากเดิมโดยพอกปูน ลงรักปิดทองให้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว พระเนตรเนื้อเลียนแบบพระสมัยล้านช้าง หรือที่เรียกว่า "พระลาว" ได้บูรณะหรือสร้างขึ้นในปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันประดิษฐาน อยู่ในพระอุโบสถหลวงวัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทราชื่อเต็ม : พระพุทธโสธร
ชื่อสามัญ : หลวงพ่อโสธร
ศิลปะ : ปางขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านช้าง
ขนาด :
- ความกว้าง : 5 ฟุต 6 นิ้ว
- ความสูง : 6 ฟุต 7 นิ้ว
วัสดุ : สำริด ปิดทอง
สถานที่ประดิษฐาน : พระอุโบสถ วัดโสธร วรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา
ประวัติ
ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด ทราบตามที่เล่าสืบต่อ ๆ กันมาเพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย มีพระภิกษุสามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉานแล้วก็จำแลงกายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำลงมาตามลำแม่น้ำ เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไป และบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า "สามพระทวน" ต่อมาได้เพี้ยนและเรียกว่า "สัมปทวน" ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองฉะเชิงเทราจนตราบเท่าทุกวันนี้
และต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามฉุดขึ้นฝั่งอีกแต่ไม่สำเร็จ สถานที่นั้นเรียกว่า "บางพระ" มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่นั้นมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้สำแดงอภินิหารในคลองเล็ก ๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างที่ 2 ฉะเชิงเทรา บริเวณนั้นเรียกว่า "แหลมลอยวน" คลองนั้นได้นามว่า "คลองสองพี่น้อง" ภายหลังก็เงียบไป
จวบจนกระทั่ง "องค์แรก"ได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่ "วัดบ้านแหลม" หรือ "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร" ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวสมุทรสงคราม เรียกกันว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
"องค์ที่สอง" ได้ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า "วัดหงษ์" เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่ที่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่า "วัดหงษ์" ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่า "วัดเสาธง" ต่อมาเกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า "วัดเสาทอน" และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็น "วัดโสธร"
ผู้คนจำนวนมากพากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดพระ "องค์ที่สอง" ขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้ผู้หนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวบ้าน จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ใน "พระวิหารวัดโสธร" และเรียกนามว่า "พระพุทธโสธร" หรือ "หลวงพ่อโสธร" ตั้งแต่บัดนั้นมา
ส่วน "องค์สุดท้าย" ได้ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธนาขึ้นฝั่ง ทำการฉุดขึ้นเป็นการใหญ่แต่ก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เล่ากันว่ามีชาวบ้านพากันมาฉุดถึงสามแสนคน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "สามแสน" ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น "สามเสน" และเรียกกันอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านจึงได้ได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่ "วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม" หรือ "วัดบางพลีใหญ่ใน" ตราบจนทุกวันนี้ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย คือ "หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน"
พระอุโบสถหลังใหม่
เดิมที "หลวงพ่อโสธร" ประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่น ๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระจิรปุณโญ (ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ นับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดาน บรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
งานนมัสการหลวงพ่อโสธร
งานนมัสการประจำปีหลวงพ่อโสธร มีปีละ 3 ครั้ง คือ
- กลางเดือนห้า ซึ่งถือเป็นงานวันเกิดหลวงพ่อโสธร มีงานฉลอง 3 วัน 3 คืน
- กลางเดือน 12 มีงาน 5 วัน 5 คืน
- เทศกาลตรุษจีน มีงาน 5 วัน 5 คืน
ขอบคุณข้อมูล จาก :
- th.wikipedia.org
- https://www.facebook.com/sunanrao/posts/456670887745602